ศูนย์พัฒนาวิชาชีพแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center for Professional Development) ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ Innovative Teaching Scholars (ITS) โดยขอเชิญชวนให้อาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้ามาร่วมโครงการอบรมวิธีการสอนจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อนำไปพัฒนาเทคนิคการเรียนการสอนของตนต่อไป โครงการนี้เข้าร่วมได้ฟรี ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนที่มีนักเรียนนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง พร้อมมอบทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้นักเรียนนักศึกษาเดินหน้าสู่ความสำเร็จในเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นนวัตกรรม
โครงการดังกล่าวจะเปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 4 กันยายน 2563 นี้ โดยอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครร่วมโครงการได้ทาง https://scpd.stanford.edu/innovative-teaching-scholars-program-thailand
ผู้ที่ต้องการสมัครร่วมโครงการจำเป็นต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในไทยที่ต้องการเป็นตัวแทนสถาบันของตน และมีใจเปิดรับแนวทางการสอนแบบใหม่ ๆ ยินดีร่วมมือกับอาจารย์ท่านอื่น ๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน และนำความเชี่ยวชาญไปแบ่งปันกับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยของตนและสถาบันอื่น ๆ โครงการ ITS จะมุ่งเน้นไปที่การฝึกฝนทักษะ กรอบการทำงาน และกลวิธีการสอน ซึ่งผู้ร่วมโครงการนำไปประยุกต์ใช้กับหลักสูตรของตนได้ทันที ในรูปแบบที่จะพัฒนาหลักสูตรและแผนการสอนให้ดียิ่งขึ้นโดยไม่ทำให้เสียระบบ
โครงการนี้มี 2 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรกจะเป็นการฝึกอบรมออนไลน์ระยะเวลา 9 สัปดาห์ ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2563 โดยจะประกอบไปด้วยการทำเวิร์กช็อป การฝึกสอนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และโปรเจกต์ตามอัธยาศัย เพื่อช่วยอาจารย์ในการพัฒนาหลักสูตรของตนเอง
ส่วนในช่วงที่สองนั้นจะมีขึ้นระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2564 ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ฝึกฝนแนวปฏิบัติและทักษะความเชี่ยวชาญให้ล้ำลึกยิ่งขึ้นในฐานะอาจารย์ผู้มีแนวคิดก้าวล้ำ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้พบปะกันเป็นกลุ่มใหญ่และแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยจะมีผู้ฝึกสอนเจาะจงเฉพาะกลุ่ม
นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมมือกับอาจารย์ร่วมสถาบันเดียวกัน อาจารย์ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการยังต้องสมัครเป็นคู่ โดยต้องสมัครร่วมกับอาจารย์อีกท่านจากแผนกเดียวกัน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะดำเนินการในภาษาอังกฤษและต้องใช้การปฏิสัมพันธ์สูงมาก ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับที่สื่อสารในการทำงานได้ด้วย
โครงการ Innovative Teaching Scholars ได้รับการสนับสนุนจาก Stanford Thailand Research Consortium (STRC) ซึ่งให้ความสำคัญกับโครงการวิจัยและการศึกษาที่นำโดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยเป็นโครงการที่มุ่งเน้นขอบข่ายการพัฒนาอนาคตของประเทศไทย STRC อยู่ในสังกัดของศูนย์พัฒนาวิชาชีพแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยมีการร่วมมือกับศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (SEAC) ในประเทศไทยในโครงการความร่วมมือต่าง ๆ และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)